โครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น

 

การสรรหา
แนวทางการแสนอชื่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่สมควรได้รับรางวัล
ดาวน์โหลดแบบฟอร์มเสนอชื่อนักเทคโนโลยีดีเด่น
แบบฟอร์มเสนอรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นออนไลน์

รายนามนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เรียงตามปีที่ได้รับรางวัล

ศักยภาพและความสามารถในการสร้าง/พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติหรือเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และชุมชนในประเทศ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีของประเทศนั้นๆอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลก

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ได้เห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงได้จัดให้มีโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา โดยมุ่งหวังเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานดีเด่น ไม่ว่าจะเป็นนักเทคโนโลยีในภาครัฐ หรือภาคเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักวิชาการ และนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถจำนวนมากในประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรม และเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว  และด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ ทำให้มูลนิธิฯ สามารถให้รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เป็นจำนวนเงิน  1,000,000 และ 100,000 บาทตามลำดับมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545   ซึ่งเป็นปีแรกของการมอบรางวัล จนถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นทั้งประเภทกลุ่ม และบุคคลไปแล้วรวม 37 รางวัล และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่รวม 34 รางวัล

รายนามประธานกรรมการ รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น

  1. ดร. วิโรจน์ ตันตราภรณ์ 2544 - 2548
  2. ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล 2549 - 2553
  3. รศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน 2554 - 2557
  4. น.สพ. รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ปัจจุบัน

ลักษณะรางวัล

รางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” และ “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” เป็นรางวัลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อมอบให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จนเห็นเป็นรูปธรรม สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับประเทศได้  ผลงานเทคโนโลยีที่ได้รับพิจารณาอาจเป็นผลงานของนักเทคโนโลยีที่มาจากภาครัฐหรือเอกชน ผลงานหลักที่เสนอเพื่อรับรางวัลควรจะเป็นผลงานที่อยู่ในรูปต้นแบบ (prototype) สิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบต่างๆ  รายงานทางเทคนิคที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง (technical report) และผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ ความโดดเด่นและนวัตกรรมของเทคโนโลยีนั้น ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองและสามารถแข่งขันได้ ส่วนรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เริ่มมีผลงานวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เป็นที่ประจักษ์ถึงศักยภาพและความทุ่มเท ในการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในสาขาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง

ประเภทของรางวัล

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราขทานพระบรมราชานุญาตให้โครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ใช้ “เรือซูเปอร์มด” ซึ่งเป็นผลงานของพระองค์ท่านที่แสดงถึงการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพการใช้งานที่เป็นเลิศ เป็นแบบฉบับของกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างครบวงจร

2.1 รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น  เงินรางวัลรวม 1,000,000 บาท (ปีละไม่เกิน 2 รางวัล) พร้อมโล่รางวัลพระราชทานประติมากรรม “เรือใบซูปเปอร์มด”
2.2 รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เงินรางวัลๆ ละ 100,000 บาท (ปีละไม่เกิน 2 รางวัล) พร้อมเหรียญรางวัล “เรือใบซุปเปอร์มด”