ประวัติการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในปีเฉลิมฉลองสมโภชนกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2525 นั้น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดงานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยครั้งแรกในวันที่ 18 สิงหาคม โดยพิธีเปิดองคงคมนตรีผู้แทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้มอบรางวัล "รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" ซึ้งได้รับความสนใจและเผยแพร่ข่าวในสื่อมวลชลอย่างกว้างขวาง รางวัลดังกล่าว จึงกลายเป็น สัญลักษณ์ของพิธีเปิดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน เพื่อให้มีองค์กรรับผิดชอบให้รางวัลโดยเฉพาะ สมาคมฯ จึงระดมทุนเพื่อจักตั้งมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2526 และเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2528 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับมูลนิธิฯ อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมากระทรวงการคลังได้ประกาศให้มูลนิธิฯ เป็นองค์การสาธารณกุศลว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2545

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินงานโครงการรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" ระยะเวลาหนึ่ง จึงริเริ่มโครงการรางวัล "นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่" เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยหวังว่ารางวัลอันทรงเกียรติทั้ง 2 รางวัลนี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ไทย มีกำลังใจในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และเป็นเป้าหมายที่เยาวชนจะพึงมุ่งพัฒนาตนให้เป็นกำลังด้านวิทยาศาสตร์และและเทคโนโลยีของประเทศต่อไป

และเมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกเป็นไปด้วยอัตราที่สูงขึ้นมาก เกิดผู้ถือสิทธิ์ในเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งมีอำนาจการต่อรองสูง ในภาวะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ มูลนิธิฯ เห็นความจำเป็นต้องกระตุ้นอัตราการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างความตระหนักในด้านนี้ จึงริเริ่มโครงการรางวัล "นักเทคโนโลยีดีเด่น" และรางวัล "นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่" ขึ้นขนานกับรางวัลทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 เพื่อเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานที่นำไปใช้ได้สร้างผลกระทบได้จริง เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมหรือสิ่งแวดล้อม

จากกิจกรรมโครงการรางวัลทั้ง 2 โครงการของมูลนิธิฯ เป็นส่วนหนึ่งของภาคส่วนที่ให้ความสำคัญและเชิดชูเกียรตินักวิจัยผู้ดำเนินงานอยู่อย่างเข้มแข็งและอุทิศตนให้กับงานวิจัยในอดีตถึงปัจจุบันสร้างผลงานวิจัยให้กับประเทศอย่างมากมาย และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญให้ทันมาสนใจในงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิฯ ขอแสดงความชื่นชมในผลงานที่ทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศชาติ พร้อมทั้งขอส่งกําลังใจให้ทุกท่านสามารถปฏิบัติงานค้นคว้าวิจัยต่อไปได้อย่างราบรื่นไม่หยุดนิ่ง ไม่ท้อถอย เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศชาติและสังคมโลกอย่างยั่งยืนสืบไป