สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ริเริ่มให้มีการมอบรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2525 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองและสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2526 ด้วยความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้เห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับ “นักวิทยาศาสตร์อาชีพ” ของไทย จึงได้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรับผิดชอบดำเนินกิจกรรม “รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” เป็นการถาวร และได้จัดตั้งคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นชุดแรก โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธานกรรมการฯ ท่านแรก
ต่อมาได้มีการปรับปรุงคณะกรรมการฯ ในปีพุทธศักราช 2535 โดยมี ดร. กอปร กฤตยากีรณ เป็นประธานกรรมการฯ ท่านต่อมา ในปีพุทธศักราช ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธานกรรมการฯ ท่านที่สาม ในปีพุทธศักราช 2543 ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เป็นประธานกรรมการท่านที่สี่ ฯ และในปีพุทธศักราช 2547 ได้ปรับปรุงคณะกรรมการฯ อีกครั้งหนึ่ง โดยมีศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์ เป็นประธานกรรมการฯ จนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมของคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนครบ 27 ปี จนถึงปัจจุบันนี้ได้คัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ไทยให้รับรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นรวมแล้วทั้งสิ้น 39 ท่าน แนวปฏิบัติในการคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ผู้สมควรได้รับรางวัลนี้ใช้วิธีการเสนอชื่อและสรรหาผู้สมควรได้รับรางวัลโดยไม่มีการสมัคร เกณฑ์การพิจารณาคำนึงถึงมวลงานที่สะสมต่อเนื่องโดยใช้เกณฑ์การพิจารณาทั้งด้านคุณภาพและปริมาณของผลงานวิจัยที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานในระดับแนวหน้าที่ได้รับการตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการที่มีการตรวจสอบคุณภาพอย่างเคร่งครัดและเป็นที่ยอมรับ
คณะกรรมการฯ ยังได้วิเคราะห์ด้านการอ้างอิงผลงานของนักวิทยาศาสตร์ในวารสารที่ได้มาตรฐานโดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งผลการอ้างอิงได้นำมาใช้ประกอบกับการเสนอชื่อเพื่อพิจารณาตัดสินอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาถึงคุณสมบัติส่วนบุคคลในด้านการอุทิศตนเพื่องานวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง มีความประพฤติเป็นที่น่าเคารพนับถือ และมีลักษณะเป็นผู้นำทางวิชาการ เหมาะสมที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างนักวิทยาศาสตร์ที่ดีงาม
ในการสรรหานักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช 2551 คณะกรรมการฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิให้เสนอชื่อของนักวิทยาศาสตร์ไทย และจากรายชื่อของผู้ที่อยู่ในข่ายการพิจารณาและรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในลำดับสูงของการพิจารณาเมื่อปีก่อนเข้าสมทบด้วย ในที่สุดคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น
ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่องศาสตราจารย์ ดร. วัชระ กสิณฤกษ์ และศาสตราจารย์นายแพทย์อภิวัฒน์ มุทิรางกูร เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช 2551 และยังมีมติให้ นพ. นรัตถพล เจริญพันธุ์ ดร. นราธิป วิทยากร ดร. บุรินทร์ กำจัดภัย ผศ. ดร. สาธิต แซ่จึง และ ผศ. ดร. อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2551
กระผมขอขอบคุณคณะกรรมการฯ และผู้ร่วมงานทุกท่าน ที่ได้ช่วยให้การพิจารณารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในปีนี้เป็นไปด้วยดี และในนามคณะกรรมการรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ขอแสดงความชื่นชมยินดีต่อนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปีพุทธศักราช 2551 และขอแสดงความหวังว่า ผลงานและเกียรติประวัติ อันดีเด่นของท่านจะช่วยส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์ไทยทั้งหลายมีกำลังใจในการบุกเบิกสร้างผลงานทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์สุขของชาวไทยและมนุษยชาติอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นสืบต่อไป
(ศาสตราจารย์ ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์)
ประธานกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น